ชีวิตหวานๆ แบบไม่กลัวเบาหวาน

…ชีวิตหวานๆ แบบไม่กลัวเบาหวาน…

                ในปี 2020 นี้ต้องยอมรับเลยว่ากระแสการทานอาหารสุขภาพนั้นมาแรงกว่ากระแสไหนๆเลย ซึ่งในเรื่องการทานอาหารสิ่งที่กลายเป็นสิ่งสำคัญมากที่สุดนั้น คือ การลดหวาน หรือในบางคนถึงกับเลิกกินหวานกันเลยทีเดียวโดยเชื่อว่าการลดการทานน้ำตาลจะทำให้สุขภาพดีขึ้น ผอมขึ้น มีชีวิตดี๊ดีปราศจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง แต่ถ้ายังต้องการทานอาหารรสหวานหละ แต่ก็ไม่อยากกินน้ำตาลจะทำอย่างไรดี วันนี้เราจะมาแนะนำวิถีชีวิตหวานๆ แบบไม่กลัวเบาหวานกัน  

ทำไม น้ำตาลจึงกลายเป็นผู้ร้ายในสายตาทุกคน ???

                น้ำตาลที่เราจะพูดกันหมายถึง น้ำตาลทรายหรือน้ำเชื่อม เป็นต้น เหล่านี้เป็นสารให้ความหวานชนิดหนึ่งที่มาจากธรรมชาติ โดยสารให้ความหวานกลุ่มนี้มีจุดเด่นคือการให้พลังงานที่รวดเร็วและรสหวานช่วยให้ร่างกายมีความสุขมากขึ้น โดยพลังงานที่ได้รับคือ 1 กรัม = พลังงาน 4 กิโลแคลอรี่ แต่!!! เจ้าจุดเด่นนี้แหละที่กลายเป็นระเบิดเวลาที่รอวันทำลายสุขภาพของเราหากเราทานน้ำตาลกันในปริมาณมากนั่นเอง เพราะพลังงานที่เข้าร่างกายอย่างรวดเร็วจะไม่ถูกใช้จนหมดทันทีทำให้ร่างกายต้องเปลี่ยนน้ำตาลที่ปริมาณมากในเลือดเป็นไขมันไปเก็บไว้ตามส่วนต่างๆของร่างกายรอวันเอาออกมาใช้เป็นพลังงานในวันนึง แต่ดันไม่ได้ใช้จนหมดแถมสะสมเพิ่มทุกวันอีกด้วยเหตุนี้ทุกคนจึงออกมาลงความเห็นกันว่าน้ำตาลคือตัวร้ายทำลายสุขภาพของทุกคน จนเกิดเป็นกระแสการลด ละ เลิก ทานน้ำตาลในปัจจุบันนั่นเอง

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย — ปริมาณการทานน้ำตาลที่เหมาะสมต่อร่างกาย ตามคำแนะนำของ WHO นั่นคือ 16 กรัม หรือ 4 ช้อนชา/ช้อนกาแฟ ต่อวันนั่นเอง

ถ้าอยากทานหวาน แต่ไม่อยากทานน้ำตาลทำอย่างไร ???

            สำหรับทางออกของปัญหานี้นั่นก็คือสารให้ความหวานแทนน้ำตาล แต่ต้องทำความเข้าใจก่อนเพราะเมื่อทุกคนได้ยินคำว่าสารให้ความหวานแทนน้ำตาล ต้องนึกว่าไม่ธรรมชาติหรือเป็นสารเคมี ซึ่งแนวคิดนั้นไม่ถูกต้องเพราะสารให้ความหวานแทนน้ำตาลนั้นจะมีทั้งเป็นธรรมชาติ และไม่ธรรมชาตินั่นเอง โดยวันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับสารเหล่านี้กันว่ามีตัวไหนบ้าง มีดีและไม่ดีอย่างไร

1.สารให้ความหวานแทนน้ำตาล ที่เป็นสารเคมี

    สำหรับสารให้ความหวานแทนน้ำตาลกลุ่มนี้จะเกิดจากการสังเคราะห์ขึ้นโดยฝีมือมนุษย์ ซึ่งเน้นหลักการในการทำให้สารให้ความหวานกลุ่มนี้ไม่สามารถย่อยในทางเดินอาหารได้จึงไม่ให้พลังงานแก่ร่างกาย แต่มีความหวานสูงกว่าน้ำตาลทรายหลายร้อยเท่าตัว สำหรับข้อมูลความปลอดภัยนั้นยังคงไม่แน่ชัดเนื่องจากมีทั้งงานวิจัยที่กล่าวว่ามีผลให้เกิดเนื้องอกหรือมะเร็งได้เนื่องจากการตกค้างในร่างกายเพราะร่างกายย่อยไม่หมดนั่นเองและมีทั้งที่บอกว่าปลอดภัยด้วย

   1.1 แอสปาเตม (Aspartame)  สารให้ความหวานแทนน้ำตาลแบบไม่ให้พลังงานชนิดแรกๆ ที่มีการนำเข้ามาใช้แทนการทานน้ำตาลในกลุ่มผู้ที่รักสุขภาพและกลุ่มของผู้ป่วยเบาหวาน สำหรับสารให้ความหวานชนิดนี้ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลประมาณ 200 เท่า ส่วนใหญ่จะนำไปใช้ผสมในเครื่องดื่มที่ไม่ร้อนจัด และไม่นิยมใช้ปรุงประกอบอาหารหน้าเตา เพราะจะทำให้เกิดรสขมเฝื่อนเกิดขึ้นและไม่น่ารับประทาน อีกทั้งมีข้อจำกัดในการใช้สำหรับผู้ที่มสภาวะฟีนิลคีโตยูเรียไม่สามารถทานสารให้ความหวานชนิดนี้ได้

   1.2 ซูคราโลส (Sucralose) อีกสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่ไม่ให้พลังงาน แต่หวานกว่าน้ำตาลประมาณ 320-1,000 เท่า เป็นสารให้ความหวานอีกชนิดที่มีความนิยมมากเนื่องจากข้อดีของสารให้ความหวานชนิดนี้คือ มีรสชาติที่ดีกว่าแอสปาเตมและทนความร้อนจึงไม่ทำให้เกิดรสขมเฝื่อนเกิดขึ้น แต่ข้อเสียของสารให้ความหวานชนิดนี้คือรสชาติที่หวานติดลิ้นทำให้เวลาทานเข้าไปจะรู้สึกหวานไม่ธรรมชาติ ในกลุ่มคนรักสุขภาพหรือเบาหวานบางกลุ่มจึงไม่ชื่นชอบการใช้สารให้ความหวานกลุ่มนี้

2.สารให้ความหวานแทนน้ำตาล ที่มาจากธรรมชาติ

     สำหรับสารให้ความหวานกลุ่มนี้จะถูกผลิตมาจากวัตถุดิบธรรมชาติ และมีความหวานทั้งใกล้เคียงน้ำตาลทรายและมากกว่าน้ำตาลทรายหลายเท่าขึ้นอยู่กับชนิดของน้ำตาลตัวนั้นๆ สำหรับความปลอดภัยนั้นย่อมมีมากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้มาจากธรรมชาติอยู่แล้วเนื่องจากไม่ใช่สารเคมี แต่ในส่วนของการตกค้างในร่างกายนั้นขึ้นอยู่กับชนิดของสารให้ความหวานตัวนั้นๆด้วย สำหรับวันนี้เราจะมาเสนอ 2 ตัวที่ใช้ได้ทั้งในกลุ่มที่กลัวเป็นเบาหวาน กลุ่มที่เป็นเบาหวาน และกลุ่มที่ลดน้ำหนักนั้นเอง

   2.1สตีเวีย (Stevia) หรือที่เรารู้จักกันในชื่อของ หญ้าหวาน หนึ่งสารให้ความหวานที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในตอนนี้เนื่องจากความเป็นสมุนไพรและการไม่มีพลังงานหลังจากทาน โดยเรามาทำความรู้จักกับสารให้ความหวานชนิดนี้ก่อน ที่เรานำมาใช้เป็นสารสกัดจากหญ้าหวานชื่อว่า  สตีวิโอไซด์ (stevioside) เป็นสารที่ให้ความหวานมากกว่า 200-300 เท่าของน้ำตาล จึงใช้ปริมาณน้อยแต่ให้ความหวานมาก แต่ข้อเสียใหญ่ของหญ้าหวานนั้นก็คือ รสชาติ ที่เฝื่อนและมีความหวานที่แปลกประหลาดเมื่อทานเข้าไปและอีกเหตุผลหนึ่งเนื่องจากสารให้ความหวานชนิดนี้จะไม่ย่อยในทางเดินอาหาร จึงไม่ควรทานมากเกินไปเพราะอาจทำให้เกิดอาการปวดท้อง แน่นท้องได้ในภายหลัง สำหรับความปลอดภัยต้องบอกว่าในปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาพบอันตรายจากหญ้าหวาน แต่ในอนาคตนั้นยังคงต้องติดตามต่อไป

   2.2ไอโซมอลทูโลส (Isomaltulose) หรือพาลาทีนที่พบเห็นตามท้องตลาด เป็นสารให้ความหวานชนิดใหม่ล่าสุดของไทยที่ได้เป็นน้ำตาลนวัตกรรม เนื่องจากสารให้ความหวานชนิดนี้ ผลิตจากน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์โดยกระบวนการที่ไร้สารเคมี ทำให้น้ำตาลชนิดนี้ย่อยและดูดซึมได้ช้าลงกว่าน้ำตาลแต่ยังคงดูดซึมหมดจึงไม่มีการตกค้างในร่างกาย อีกทั้งมีการศึกษาพบว่าน้ำตาลชนิดนี้ช่วยให้ร่างกายนำเอาไขมันที่สะสมมาใช้ได้มากกว่าน้ำตาลทรายทั่วไปถึง 20% และในระยะยาวสามารถลดระดับไตรกลีเซอไรด์ได้ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีน้ำตาลชนิดไหนทำได้ ปัจจุบันน้ำตาลชนิดได้ถูกนำไปเป็นสารให้ความหวานที่เหมาะกับกลุ่มผู้ที่เป็นเบาหวานมากขึ้นเนื่องจากไม่ส่งผลกระทบต่อระดับน้ำตาลในเลือดตั่งคงให้พลังงานต่อเนื่องกับร่างกายของผู้ป่วยได้ จึงเป็นแหล่งพลังงานที่บุคลากรทางการแพทย์เลือกใช้ในปัจจุบัน

   2.3ฟรุคโตส (Fructose) น้ำตาลชนิดนี้มีพบมากในอาหารกลุ่มผลไม้และน้ำผึ้ง เป็นสารให้ความหวานที่พบมากในธรรมชาติเลยก็ว่าได้ ในช่วงหนึ่งนิยมนำมาทานในกลุ่มที่ต้องการลดน้ำหนักและกลุ่มเบาหวานเพราะไม่พบว่าระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่ม แต่ปัจจุบันมีการศึกษามากมายพบภัยเงียบจากน้ำตาลชนิดนี้ว่าส่งผลให้เกิดไขมันเกาะบริเวณตับในปริมาณมาก หากทานในระยะเวลายาวนานจะเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรังชนิดต่างได้ เช่น เบาหวาน ไขมันอุดตันในหลอดเลือด ตับอักเสบ เป็นต้น ซึ่งเมื่อมีการศึกษาดังกล่าวออกมาทำให้ในทางการแพทย์เริ่มลดปริมาณการใช้น้ำตาลชนิดนี้ลง และมีการแนะนำในการทานอาหารที่เป็นแหล่งของน้ำตาลชนิดนี้อย่างผลไม้ และน้ำผึ้งให้มีปริมาณลดลงเพื่อให้หลีกเลี่ยงผลเสียจากน้ำตาลกลุ่มนี้ได้

                และทั้งหมดที่กล่าวมากเบื้องต้นนี้ก็คือทางเลือกสำหรับชีวิตหวานๆแบบไม่กลัวเบาหวาน สำหรับทุกท่านที่กำลังอ่านอยู่อาจจะรู้สึกว่างั้นถ้าเป็นสารให้ความหวานที่ไม่ใช่ธรรมชาติเราต้องห้ามกินใช่มั้ย คำตอบของเรื่องนี้คือไม่ใช่ เนื่องจากประโยชน์ของสารใหความหวานชนิดนี้คือการให้ความหวานที่สูงมากๆ ดังนั้นหากเราทานในปริมาณน้อยสลับกับสารให้ความหวานตัวอื่นๆหรืออาหารจากธรรมชาติบ้าง เราก็สามารถเลี่ยงข้อเสียจากสารให้ความหวานนั้นๆได้นั่นเอง ดังนั้นหลักพื้นฐานที่เราเคยได้ยินกันมาก่อนนั่นก็คือให้ทานอาหารให้หลากหลายก็ยังเป็นสิ่งที่ควรทำและมีประโยชน์ต่อตัวเราไม่ว่าในยุคสมัยไหนก็ตาม